Rifle Shooting
ปืนไรเฟิล ใช่จะว่าจะยิงกันง่ายๆน่ะครับ แค่ปืนธรรมดา ๆ ถ้าไม่เคยฝึกมาก่อน เวลายิง ก็มีแรงสะท้อนกลับเหมือนกัน มือต้องจับให้มั่น เลยเอาคลิปความแรงของปืนไรเฟิลมาฝาก พร้อมประวัติเช่นเคย



ไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ (ถูกกฎหมาย)
นักเล่นปืนบ้านเราออกจะอยากได้ปืนไรเฟิลระบบกึ่งอัตโนมัติ (รวมทั้งแบบอัตโนมัติ) กันเอามากๆ มีความพยายามที่จะนำเข้ามาทั้งแบบผิดกฎหมายรวมทั้งการขอใบ ป.2 หรือ ป.3 แบบถูกกฎหมาย แล้วใช้วิธีการพิลึกพิลั่นต่างๆนานา จนกระทั่งออกใบ ป.4 มาจนได้ แต่อยากจะเตือนว่าต่อให้ออกใบ ป.4 แบบมั่วๆ มาได้แล้วก็จริง แต่ปืนแบบนี้ยังไงๆ ก็มีความผิดอยู่ในตัวของมันเอง ถูกจับได้เมื่อไหร่ก็สามารถตั้งข้อหาได้สารพัด ตั้งแต่ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ, กฎหมายศุลกากร จนถึงประมวลกฎหมาย อาญาเกี่ยวกับการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ไปจนถึงการปลอมเอกสารหรือ ใช้เอกสารราชการปลอม
แต่เชื่อไหมครับว่ายังมีปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติรุ่นเก่าอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นปืนที่ออกใบ ป.4 มาแบบถูกต้องตามกฎหมายอย่างเต็มภาคภูมิ เนื่องจากได้นำเข้ามาและจดทะเบียน ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายห้ามปืนในลักษณะนี้
มาคุยกันเรื่องวินเชสเตอร์ โมเดล 1907 กระบอกนี้ดีกว่า
จริงๆแล้วปืนไรเฟิลระบบกึ่งอัตโนมัตินั้นเกิดขึ้นมาพร้อมๆกับปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ ตำราทางฝ่ายอเมริกันนั้นว่ากันว่า จอห์น บราวนิง เป็นคนสังเกตเห็นว่าในระหว่างที่ ยิงปืนจะมีก๊าซจำนวนมากพุ่งตามกระสุนออกมา จึงเกิดความคิดที่จะนำพลังงานจาก ก๊าซนั้นมาช่วยส่งกระสุนนัดต่อๆไปเข้าไปในรังเพลิง และก็ได้นำแนวความคิดนี้มาผลิต เป็นปืนต้นแบบในขนาด .45-75 และได้รับทะเบียนสิทธิบัตรในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1892 หน้าตาของปืนที่ว่า ผมเอามาลงให้ดูแล้วในภาพที่ 4 ดูแล้วไม่ค่อยเหมือนปืนเท่าไหร่
ทีนี้ระบบการทำงานแบบกึ่งอัตโนมัติของปืนยุคแรกๆ ยังคงเป็นระบบโบล์วแบ็ก แบบเดียวกับปืนลูกกรดในทุกวันนี้ แต่เมื่อใช้กระสุนที่มีอานุภาพสูงขึ้น แรงอัดในรังเพลิง ก็มากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เกิดแรงผลักดันให้ลูกเลื่อนถอยอย่างรุนแรงจนรีคอยล์สปริงรับ ไม่ไหว ดังนั้น บราวนิงจึงได้ออกแบบให้เป็นระบบรีคอยล์ โดยจัดให้ลำกล้องปืนถอยหลัง มาเป็นระยะทางสั้นๆ เพื่อถ่วงเวลาให้แรงอัดในรังเพลิงลดลงเสียก่อน ต่อจากนั้นลำกล้อง จะยันกับโครงปืนหยุดอยู่กับที่ ปล่อยให้ปลอกกระสุนดันลูกเลื่อนถอยหลังต่อไปจนกระทั่ง เกิดการคัดปลอกกระสุน และบรรจุนัดใหม่ เข้าไปในรังเพลิง
แต่ปืนระบบโบล์วแบ็กก็ยังคงมีข้อดีอยู่ตรงที่มีชิ้นส่วนน้อยกว่า ลำกล้องยึดแน่นกับโครงปืน ไม่เคลื่อนที่ ช่วยลดชิ้นส่วนที่อาจจะหลวมคลอน และยังมีรีคอยล์น้อยกว่า เพราะไม่มี แรงกระแทกจากการที่ลำกล้องปืน ซึ่งเป็นเหล็กทั้งดุ้นถอยมากระแทกโครงปืนอีกด้วย ดังนั้น ในยุคแรกๆ ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติของอเมริกันจึงได้แยกออกเป็นสองแนวทาง คือ เรมิงตันใช้ระบบรีคอยล์ตามแนวทางการออกแบบของบราวนิง ทำให้ได้ปืนที่มีอานุภาพสูง ใช้กระสุนได้ถึง .35 เรมิงตัน และ .30 ซาเวจ ส่วนวินเชสเตอร์จะใช้ระบบโบล์วแบ็ก ของจอห์นสัน (Thomas Johnson) ทำให้ได้ปืนที่มีขนาดกะทัดรัดกว่าของเรมิงตัน แต่กระสุนมีอานุภาพต่ำกว่า
ไรเฟิลชนวนกลางแบบกึ่งอัตโนมัติ แบบแรกของวินเชสเตอร์คือ ปืนโมเดล 1905 ซึ่งมีรูปร่างคล้ายๆกับปืนกระบอกนี้ละครับ แต่ใช้กระสุน .32 WSL กับ .35 WSL กระสุน .35 เป็นกระสุนเซมิริม ส่วน .32 เป็นกระสุนแบบมีริมเหมือนกับกระสุนปืนลูกโม่ และกระสุน .32 WSL นี้เองที่เป็นต้นแบบของกระสุน .30 คาร์ไบน์ ที่ส่งเสียงดังตลอด สงครามโลกครั้งที่สอง ติดต่อกันมาถึงสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม
ถัดมาอีก 2 ปีวินเชสเตอร์ถึงได้ออกปืนโมเดล 1907 กระบอกนี้ขึ้นมา โดยเพิ่ม อานุภาพกระสุนขึ้นเป็น .351 วิน ซึ่งยืดปลอกกระสุนจาก .35 WSL ของเดิมยาว 1.14 นิ้วขึ้นไปเป็น 1.91 นิ้ว และปืนโมเดล 1907 นี่ละครับที่เป็นปืนซึ่งประสพความ สำเร็จมากที่สุด โดยผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ.1907 ติดต่อกันนานถึงห้าสิบปี แม้ว่าในอีกสามปีถัดมา วินเชสเตอร์จะออกปืนโมเดล 1910 โดยขยายกระสุนขึ้นไปเป็น .401 WSL แต่ก็ทำ ขายเพียงยี่สิบกว่าปีเท่านั้นเอง ไม่ได้ขายดิบขายดีเหมือนกับโมเดล 1907 กระบอกนี้
วินเชสเตอร์ โมเดล 1907 เริ่มผลิตขึ้นมาในปี ค.ศ. 1907 เมื่อบวกด้วย 543 ก็ตรงกับ พ.ศ.2450 คือเกิดก่อน พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ร.ศ. 131 คลอดออกมา 5 ปี พอดี ผมจึงไม่แปลกใจที่ปืนกระบอกนี้ตอก ก.ท. ด้วยเลขเพียงสามตัว ปืนรุ่นนี้นักเล่นปืน รุ่นคุณปู่จะเรียกว่า "ห้านัดกดแซ่" เข้าใจว่าที่เรียกอย่างนี้ก็เพราะว่าปืนสมัยก่อนจะนิยม เก็บก้านแซ่เอาไว้ใต้ลำกล้อง (ปืนรุ่นใหม่อย่าง เช่น AK-47 ก็ยังเก็บก้านแซ่ไว้ใต้ลำกล้อง) พอเห็นวินฯ 1907 ใช้กดก้านขึ้นลำใต้ลำกล้อง ก็เลยเรียกว่าห้านัดกดแซ่เสียเลย
วินเชสเตอร์ทั้งสามโมเดลใช้ซองกระสุนแบบถอดออกจากตัวปืนได้ สำหรับ ปืนกระบอกนี้ซองกระสุนที่มากับปืนมีทั้งแบบ 5 นัดและ 10 นัด ลองเปิดตำนานดูประวัติ ของปืนแล้ว ซองกระสุนมาตรฐานของปืนรุ่นนี้จะเป็นแบบ 5 นัด ส่วนแบบ 10 นัดจะทำ เป็นอ็อพชั่นแยกขายต่างหาก โดยออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 เป็นต้นไป
กระสุน .35 และ .351 ของวินเชสเตอร์ จะใช้หัวกระสุนเล็กกว่าของเรมิงตันนิดหน่อย คือของวินเชสเตอร์จะใช้หัวกระสุนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.351 นิ้ว แต่ .35 เรมิงตันจะใช้ 0.358 นิ้ว และก็คงต้องยอมรับนักเล่นปืนนิยมกระสุนของเรมิงตันมากกว่า เนื่องจากในปัจจุบันนี้กระสุนไรเฟิลในคาลิเบอร์ .35 อย่างเช่น .350 เรมิงตัน แม็กนั่ม, .35 วีเลน หรือแม้แต่ .356 วินเชสเตอร์ กับ .358 วินฯเองก็จะใช้เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.358 นิ้ว เหมือนกับ .35 เรมิงตันทั้งหมด
ปืนกระบอกนี้เราได้มาทดสอบโดยเจ้าของปืนเห็นว่าเป็นของแปลก อยากจะ แนะนำให้เพื่อนนักเล่นปืนอื่นๆได้รู้จัก จึงติดต่อส่งปืนมาให้ อวป. ทำการทดสอบ กระสุนที่ให้มากับปืนมีทั้งของวินเชสเตอร์ กับเรมิงตัน กระสุนของวินเชสเตอร์เป็นแบบ หัวแข็ง FMJ 180 เกรน หุ้มด้วยแจ็กเก็ตนิเกิลสีเงิน ส่วนของเรมิงตันเป็นกระสุนหัวอ่อน JSP แจ็กเก็ตทองแดงธรรมดา
ดูจากอานุภาพของกระสุนที่พอๆกับ .357 แม็กซิมั่มที่ยิงจากปืนยาว ผมจึงตัดสินใจ นำปืนวินเชสเตอร์กระบอกนี้มายิงในระยะเพียง 25 เมตร ซึ่งใกล้ที่สุดเท่าที่เราเคย ทดสอบไรเฟิลชนวนกลาง ปรากฏว่าอาจจะไกลไปด้วยซ้ำเพราะกระสุนวินเชสเตอร์ยี่ห้อ เดียวกับปืนด้านเกือบทุกนัด แถมนัดที่ลั่นออกไปก็ยังส่งเสียงไม่ค่อยจะหนักแน่นสมเป็น กระสุนไรเฟิลเสียเลย เข้าใจว่าเป็นเพราะความเก่าแก่พอๆกับตัวปืนที่ตอก ก.ท. ด้วยตัวเลข เพียงสามตัว มาชื่นใจอีตอนที่เปลี่ยนเป็นกระสุนหัวอ่อนของเรมิงตัน เสียงกระสุนดัง สนั่นหวั่นไหว โทนเสียงออกแหลมคล้ายกับ .357 แม็กซิมั่ม แต่รีคอยล์นุ่มนวลมากพอๆ กับ .223 เท่านั้นเอง
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจกระบอกนี้ อยากทราบว่าเขาซื้อขายกันไปหรือยัง หรือว่ารับโอนกันสำเร็จหรือไม่ ลองแวะไปถามที่ ห้างฯ ปืนเพ็ญจันทร์ เพราะได้ข่าวว่าคนซื้อคนขายเขานัดมาเจอกันที่นั่น